ความเป็นมา
ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยสถาบันพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน (สพต.) ได้ดำเนินโครงการสร้างต้นแบบบุคลากรสายงานสนับสนุน ประจำปี ๒๕๖๕ เพื่อให้ได้บุคลากรต้นแบบที่เป็นผู้ปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ ทัศนคติ รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถผลิตนวัตกรรมในการปฏิบัติงาน และนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน ตลอดจนอุทิศตนและดำรงตนอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม สามารถสร้างและรักษาคุณภาพงานในแต่ละด้านของบุคลากรในสายงานสนับสนุน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบริหารจัดการบุคลากรในมิติต่างๆ เพื่อให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่ในสายงานของตนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เพื่อให้การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและเกิดความสำเร็จในภาพรวมขององค์กร
หลักการและเหตุผล
การดำเนินการโครงการสร้างต้นแบบบุคลากรสายงานสนับสนุน ประจำปี ๒๕๖๕ ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เสริมสร้างความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานตามสายงาน การบริหารงานและการมีส่วนร่วม รวมทั้งการพัฒนา คุณธรรม จริยธรรม ทัศนคติ และการมีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อตนเอง ผู้ร่วมงาน และองค์กรโดยรวม และประการสำคัญ ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการคิดและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมเห็นว่า ทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดขององค์กร คือ บุคลากร แม้ว่าองค์กรจะมีงบประมาณที่มาก หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยก้าวล้ำเพียงใดก็ตาม หากบุคลากรขององค์กรนั้นๆ ขาดความรู้ ความเข้าใจและการมีคุณธรรมและจริยธรรมแล้วก็คงเป็นการยากที่องค์กรจะบรรลุเป้าหมายได้ ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญและพัฒนาบุคลากรของ สตง. ซึ่งมีความหลากหลาย ในด้านการศึกษา ด้านความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ทำงานที่แตกต่างกัน รวมถึงภารกิจที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบงานในหน้าที่ก็มีจำนวนมาก จึงอาจจะเป็นการยากหรือไม่สะดวกที่ต้องเสียสละเวลาเพื่อเข้ารับการอบรม หรือศึกษาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะโดยวิธี onsite หรือ online หรือการที่จะต้องใช้เวลาในการศึกษาเอกสารวิชาการต่าง ๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจของหลายๆ คน อีกทั้งองค์ความรู้ของ สตง. มีจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ความรู้เกี่ยวกับงานตรวจสอบ หรืองานสนับสนุนในแต่ละด้าน และอื่นๆ ซึ่งอาจทำความเข้าใจได้ยาก หรือไม่น่าสนใจที่จะศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองหรือองค์กร ผู้เข้ารับการอบรมเห็นว่า ควรสร้างนวัตกรรมเพื่อให้บุคลากรของ สตง. ที่มีจำนวนมากและมีความหลากหลาย สามารถใช้นวัตกรรมที่ดีและมีประโยชน์ร่วมกันได้ โดยนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมานั้นอยู่ภายใต้แนวความคิด “การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องสนุก” โดยมีการสร้างสรรค์รูปแบบในการนำเสนอ องค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินด้วยวิธีการ และรูปแบบใหม่ ๆ ที่ดึงดูดความสนใจ มีความสนุกสนานสอดแทรกสาระความรู้และความบันเทิง ซึ่งบุคลากรของ สตง. สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลาและสามารถนำรูปแบบวิธีการที่สร้างสรรค์นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดความน่าสนใจ จึงเห็นว่า ในยุคนี้สิ่งที่กำลังเป็นที่นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ และสามารถใช้ได้กับคนทุกวัย ทุกสายงาน ก็คือ “เกม” ที่จะเป็นสื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ดังนั้น การสร้างสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบของเกม จึงเป็นเรื่องใหม่ของ สตง. ที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาในการเรียนรู้ สำหรับบุคลากรที่อาจจะมีภาระงานที่มากไม่ค่อยมีเวลาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือมีสภาวะความเครียด หรืออาจจะมีความเบื่อหน่ายที่จะเรียนรู้ในรูปแบบเดิม ๆ หรือในรูปแบบที่เป็นเอกสารทางวิชาการมากเกินไป ผู้เข้ารับการอบรมร่วมกัน สร้างสรรค์เครื่องสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้และให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ในรูปแบบเกม ในนวัตกรรมที่มีชื่อว่า “SAO’s GAME” ขึ้น
วัตถุประสงค์ในการจัดทำนวัตกรรม
- เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ฝึกคิดค้นและจัดทำนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรของ สตง.
- เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่ให้แก่บุคลากรของ สตง. ที่สนใจศึกษาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ สตง. หรือความรู้ด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน
- เพื่อให้ สตง. มีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจสามารถคิดค้นและสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ ต่อองค์กร และทำให้บุคลากร สตง. ที่สนใจเข้ามาเล่นเกมได้รับความรู้จากนวัตกรรมที่ได้คิดค้นขึ้น รวมถึงสามารถใช้เป็นข้อมูลสนับสนุน หรือประยุกต์ใช้ ปรับปรุง หรือพัฒนาต่อยอดเกี่ยวกับรูปแบบและวิธีการเสริมสร้าง หรือเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน สตง. ต่อไปในอนาคต
วิธีการดำเนินการ
สำรวจปัญหา
และความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย (บุคลากรของ สตง.)
ร่วมประชุมกลุ่ม
เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับนวัตกรรม วางแผนการดำเนินการกำหนดเป้าหมาย และขอบเขตเนื้อหาของนวัตกรรม
เข้ารับการฝึกอบรม
เพื่อจัดทำนวัตกรรม “SAO’s GAME”
สร้างแบบจำลองนวัตกรรม
และทดสอบนวัตกรรมดังกล่าว